1. แปลงข้อมูลให้เป็นรูปภาพ
สมองคนเราสามารถจดจำภาพได้ดีกว่าข้อความ ดังนั้น การแปลงข้อมูลต่างๆ ให้เป็นรูปภาพ จะทำให้เราสามารถจำได้ดีขึ้น รูปภาพในที่นี้รวมถึงแผนภูมิแท่ง แผนภูมิวงกลม แผนที่ความคิดด้วยนะคะ ลองฝึกจดแลคเชอร์โดยมีรูปประกอบดู แล้วจะพบว่ามันจำง่ายกว่าข้อความติดกันเป็นพรืดๆ เยอะ
2. เชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เก่า
ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พยายามโยงเข้ากับพื้นความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจสิ่งใหม่ที่เรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น คำว่า ‘sue’ ซึ่งแปลว่า ฟ้องร้อง ออกเสียงคล้ายๆ ‘สู้’ ในภาษาไทย เราก็จำแบบเชื่อมโยงว่า sue คือ สู้กันในศาล = ฟ้องร้อง แบบนี้ก็จะช่วยให้จดจำได้ในระยะยาว
3. ติวให้เพื่อน
การติวให้คนอื่น นอกจากจะเป็นการทบทวนความรู้ของเราอีกรอบแล้ว ในระหว่างเรียบเรียงเพื่อนำไปอธิบายให้เพื่อนเข้าใจ สมองของเรายังมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เรียนรู้ไป ให้มีการจัดวางอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และทำให้เราเข้าใจความรู้เหล่านั้นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก แถมยังสนิทกับเพื่อนมากขึ้นอีกด้วยนะ
4. หลีกเลี่ยงการจดโน้ตด้วยข้อความล้วนๆ
เชื่อว่าหลายคนคงเคยหลับคาตำราเรียนเล่มหนาๆ กันมาแล้วไม่มากก็น้อย เพราะตัวหนังสือที่ติดกันยาวๆ อ่านแล้วมันช่างน่าเบื่อสุดๆ เพราะแบบนั้นเวลาที่เราจดโน้ตไว้อ่านทบทวนเองก็ไม่ควรเขียนเฉพาะตัวหนังสือ ลองวาดภาพ เขียนกราฟ เขียนแผนภูมิแทรกลงไปบ้าง ใช้ปากกาสีหรือไฮไลท์ให้เด่น ข้อความ pop up ขึ้นมาเวลาอ่าน จะช่วยให้สนุกขึ้นเวลากลับมาอ่านทบทวน และทำให้จดจำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
อย่าลืมแทรกความคิดเห็นที่เรามีต่อเรื่องนั้นๆ ลงไปด้วย เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้สมองเกิดการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ได้เป็นอย่างดี
5. วางรากฐานให้มั่นคง
เวลาเริ่มต้นเรียนใหม่ๆ ส่วนใหญ่เนื้อหาจะง่ายใช่ไหมคะ แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ยิ่งเรียนก็ยิ่งยากขึ้น และทำให้งุนงงสับสนมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนพอไม่เข้าใจจุดหนึ่งก็ปล่อยผ่านไป แล้วข้ามไปอ่านอีกเรื่อง แบบนั้นมักจะยิ่งทำให้งงมากขึ้นค่ะ เพราะเนื้อหาในบทเรียนส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกัน ฉะนั้น ถ้าอยากจะเข้าใจบทเรียนทั้งหมดได้โดยไม่สับสน การค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละสเต็ปจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ต้องมั่นใจว่าเราเข้าใจเบสิคเรื่องที่เรียนแน่นอน สามารถอธิบายได้ แล้วลำดับต่อๆ ไปถ้าสามารถอธิบายได้ก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามันยากเอง
6. อ่านบทสรุปก่อนเริ่มเรียน
หากวิชาไหนมีบทสรุป ก่อนจะเริ่มอ่านเนื้อหาหรือเรียนในคาบถัดไป แนะนำว่าให้อ่านบทสรุปไปก่อนล่วงหน้า เพราะจะช่วยให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดก่อน และเมื่อย้อนกลับมาไล่อ่านอีกครั้งก็จะทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น อย่างน้อยเผื่อเวลาสัก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงก่อนเข้าคลาสเพื่อเตรียมตัวไว้ก็ดีนะ
7. ตั้งใจฟังในห้องเรียน
บางคนเวลาเรียนในห้องมักจะชอบก้มหน้าก้มตาจดตามสไลด์ หรือจดตามสิ่งที่อาจารย์สอนแบบทันบ้างไม่ทันบ้าง ซึ่งการจดก็ถือเป็นวิธีช่วยจำที่ดี แต่! อย่าลืมเผื่อสมาธิไว้ใช้กับการฟังและคิดวิเคราะห์ตามด้วย บางคนจดมาเยอะก็จริง แต่พอกลับมาอ่านทวนกลับไม่เข้าใจซะงั้น เพราะมัวแต่จดแทบไม่ได้ฟังที่อาจารย์สอนเลย บางทีอาจารย์บอกว่าตรงนี้จะออกสอบหรือเน้นย้ำหัวข้อไหนเป็นพิเศษ ถ้าไม่ได้ตั้งใจฟังเราก็อาจจะพลาดได้นะ
8. ฝึกจับประเด็น
การจับประเด็นไม่ใช่แค่การย่อความหรือสรุปความแต่เป็นการวิเคราะห์ให้แตกฉานว่าอะไรคือหัวใจหลักของสิ่งที่เขียนอยู่ในหนังสือหรือสิ่งที่อาจารย์พูด ยกตัวอย่างเช่นเรารู้ว่านิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าเกิดขึ้นยังไง เล่าได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ประเด็นของเรื่องไม่ใช่ว่าใครถึงเส้นชัยก่อนกันแต่คือคนเล่าต้องการจะสอนให้เราไม่ประมาทและเหลิงไปกับความสามารถของตนเองต่างหาก
เพราะฉะนั้นเวลาอ่านหนังสือจบบทก็อย่าลืมตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า หัวใจสำคัญหรือประเด็นหลักของบทนี้คืออะไร
สุดท้ายนี้ถ้าอยากให้สมองโลดแล่นพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่าลืมใส่ใจเรื่องพื้นๆ แต่สำคัญมากอย่าง ‘การพักผ่อนให้เพียงพอ’ ด้วยนะ ^^ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือมาเยอะแค่ไหน แต่ถ้าอ่อนเพลีย สมองไม่พร้อมทำงาน เราก็จะไม่สามารถดึงข้อมูลต่างๆ ออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
|